เฮาบ่ฮัก ไผจะมาฮัก เฮาบ่เฮียน ไผจะมาเฮียน เฮาบ่สืบ ไผจะมาสืบ

พญาพรหมโวหาร

ที่มา : http://www.chiangmai-thailand.net/person/phowoharn.htm




พระยาพรหมโวหาร

พระยาพรหมโวหารนับเป็นกวีที่เลิศในทางการประพันธ์ค่าว เป็นศิษย์พระยาโลมาวิสัย เป็นบุตรของแสนเมืองมา ผู้ดูแลคลังของเจ้าหลวงลำปาง พระยาพรหมเดิมชื่อ พรหมินทร์ เกิดเมื่อ ๒๓๔๕ ได้เล่าเรียนเบื้องต้นจากครูบาอุปนันทะ เจ้าอาวาสวัดสิงห์ชัย เมื่ออุปสมบทแล้วได้เดินทางมาศึกษากับครูบาปินตาเจ้าอาวาสวัดสุขเข้าหมิ้น (ปัจจุบันอยู่ในบริเวณวัดเจดีย์หลวง) เชียงใหม่ ศึกษาได้ ๓ ปี จึงกลับไปลำปาง เมื่ออายุประมาณ ๒๕-๒๖ ปี ได้ลาสิกขาบทและได้แต่งค่าวเรื่อง ใคร่สิก ขึ้นเพื่อลาอาจารย์และอุบาสกอุบาสิกา

เมื่อสึกแล้ว บิดาจึงได้นำตัวไปฝากเป็นศิษย์ของพระยาโลมาวิสัย ผู้เป็นเพื่อน พระยาพรหมจึงได้รับราชการในราชสำนักเจ้าหลวงลำปาง ทำงานด้านอาลักษณ์ และยังรับจ้างเขียนเพลงยาวที่เรียกว่า ค่าวใช้ ให้หนุ่มสาวที่มาจ้างเขียนอีกด้วย

ต่อมาเจ้าหลวงนครลำปางสั่งให้พระยาพรหมไปซื้อช้างที่เมืองแพร่ แต่พระยาพรหมเอาเงินที่จะซื้อช้างไปเล่นการพนันเสียจนหมดตัว เมื่อถูกทวงถามจึงแต่งค่าวชื่อ ช้างขึด บรรยายว่าช้างที่ว่านั้นเป็นช้างอัปมงคล (ขึด) ส่งไปลำปางเป็นคำตอบ การซื้อช้างไม่ได้นี้เป็นเหตุให้พระยาพรหมกลับไปลำปางไม่ได้ ต้อหนีอาญาอยู่ที่เมืองแพร่

ด้วยความสามารถในเชิงกวี ทำให้เจ้าหลวงเมืองแพร่รับเข้าเป็นกวีในราชสำนัก แต่เกิดมีเรื่องชู้สาวกับสนมเจ้าหลวงแพร่ จึงถูกจับขังและเตรียมจะประหารชีวิต แต่เจ้าอุปราชคำวงสาซึ่งโปรดปรานพระยาพรหม ขอร้องเจ้าหลวงให้รอลงอาญาไว้จนกว่าพระยาพรหมจะแต่งค่าวฮ่ำดำหัวเจ้านายให้เสร็จก่อน ต่อมาพระยาพรหมได้หนีออกจากคุกและได้พาศรีชมไปอยู่ด้วยที่บ้านสันคอกควาย อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มีอาชีพค้าขาย ต่อมาพระยาพรหมไปทวงหนี้ที่บ้านทุ่งยั้ง กลับมาพบว่าศรีชมได้หอบข้าวของหนีตนไปโดยไม่บอกกล่าว พระยาพรหมเสียใจมากได้แต่งเพลงยาวขึ้นเพื่อให้ศรีชมอ่าน เรียกกันว่า ค่าวสี่บท หรือ ค่าวร่ำนางชม ซึ่งเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของพระยาพรหม ท่านแต่งเรื่องนี้ด้วยความสะเทือนใจในเรื่องรักที่ไม่สมหวัง เป็นการระบายอารมณ์กวีได้อย่างลึกซึ้ง มีข้อความไพเราะกินใจ เป็นคติจนเป็นที่จดจำของคนทั้งหลายต่อมาอย่างติดปาก ทั้งนี้เพราะท่านได้ปรับปรุงฉันทลักษณ์ของค่าวให้มีสัมผัสแพรวพราว ดังตัวอย่าง

“การบ่กิน บ่ช่างยู้ย้น บ่ตัดรากต้น งูนราน

ยามเมื่อรัก น้ำส้มว่าหวาน ใจบ่เชยบาน น้ำตาลว่าส้ม

เมื่อสองฟู่กัน ตกลงเหลียกหล้ม พี่ปลงอารมณ์ เชื่อน้อง

ก็มีบ่สม เหมือนชมปากพ้อง จาฟู่หย้อง เอางาม

ปากว่ารัก ใจในบ่ตาม ฟู่เอางาม น้ำใสซ่วยหน้า

พ้อยบ่มีเหมือน คำนายฟู่ข้า บ่สมวาทา แห่งน้อง”

ต่อมาพระยาพรหมขึ้นมาอยู่เชียงใหม่ เพราะเจ้าแม่ทิพเกสรโปรดละครแบบกรุงเทพ จึงให้พระยาพรหมแปลงความเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ จากภาษาไทยกลางมาเป็นคำค่าวภาษาล้านนา และได้เข้ารับราชการอยู่กับพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ (เจ้าชีวิตอ้าว) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นที่โปรดปรานของทั้งเจ้าชีวิตอ้าวและจ้าแม่ทิพเกสร และได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ อายุ ๘๔ ปี

นอกจากจะเป็นกวีที่มีโวหารกล้าแล้ว ยังเป็นผู้มีความรู้ในศาสตร์อื่นๆ อีก เช่น ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ คชศาสตร์ ว่าด้วยการดูลักษณะช้าง ตลอดจนความรู้ทางด้านสมุนไพรต่างๆ จึงได้ใช้ความรู้เหล่านี้ประกอบในการแต่งกวีนิพนธ์ เช่น มหาพนตำรายา ที่แสดงความสามารถในเชิงกวี และความรู้ทางด้านตำรายาเกี่ยวกับต้นไม้ในป่าประกอบเรื่องมหาชาติชาดก กัณฑ์มหาพนของท่าน ดังกล่าวแล้ว

ผลงานของพระยาพรหมมีดังนี้

๑. ค่าวใคร่สิก

๒. ค่าวช้างขึด

๓. คำจ่ม

๔. ค่าวสี่บท หรือค่าวร่ำนางชม

๕. ค่าวหงส์หิน (ตรวจชำระตั้งแต่บทที่ 1-5) เข้าใจว่าจะเป็น ค่าวหงส์ผาคำ ที่พระยาโลมาวิสัยแต่งขึ้น

๖. ค่าวปู่สอนหลาน

๗. ค่าวพระอภัยมณี (แปลงจากกลอนของสุนทรภู่มาเป็นค่าว)

๘. มหาพนตำรายา

๙. ค่าวสรรพคำสอน

๑๐. ค่าวใช้ หรือเพลงยาวจดหมายรักของหนุ่มสาวสมัยโบราณของล้านนา

(มณี พยอมยงค์, ๒๕๑๖ : ๑๑๐-๑๑๕)

น่าเสียดายที่ผลงานบางเรื่องหาต้นฉบับไม่พบ เช่น ค่าวช้างขึด แต่ผลงานที่แพร่หลายมากก็มี เช่น คำจ่ม และค่าวสี่บท มีการพิมพ์เผยแพร่และยังพอจะหาศึกษาได้ ผู้เรียบเรียงได้ทราบมาว่า เรื่อง ค่าวสี่บท ของท่านได้รับการถ่ายทอดด้วยอักษรโฟเนติคเป็นภาษาล้านนา เพื่อเผยแพร่แก่นักศึกาาชาวต่างประเทศ และมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษเมื่อนานมาแล้ว (วิคโก บรุน, สัมภาษณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓)

หน้าวัดสวนดอก

ปัจจุบัน ชมรมกวีพื้นบ้านล้านนาได้พยายามรวมตัวกันเพื่อฟื้นฟูการแต่งค่าวในโอกาสต่างๆ และได้จัดให้มีการไหว้ครูค่าว โดยถือเอาพระยาพรหมโวหารเป็นบรมครู ในวันที่ ๑๒ เมษายนของทุกๆ ปี โดยมาจัดงานร่วมกันที่อนุสาวรีย์ของท่านที่ประดิษฐานที่หน้าวัดสวนดอก อำเภอเมือง เชียงใหม่ นับเป็นนิมิตหมายที่ดีแก่วงการกวีพื้นบ้านล้านนา