เฮาบ่ฮัก ไผจะมาฮัก เฮาบ่เฮียน ไผจะมาเฮียน เฮาบ่สืบ ไผจะมาสืบ

ประวัติอาจารย์ นันท์ นันท์ชัยศักด์











อาจารย์ นันท์ นันท์ชัยศักด์

ครูภูมิปัญญาไทย ด้านภาษาและวรรณกรรม

ครูนันท์ นันท์ชัยศักดิ์ ปัจจุบันอายุ 66 ปี
เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2479
ที่ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
เป็นบุตรนายมา และนางทิพย์ นันท์ชัยศักดิ์
สมรสกับ นางสาวบุญยวง นานินทอง มีบุตรชายและหญิง รวม 2 คน




ครูนันท์ นันท์ชัยศักดิ์ เป็นศิลปินพื้นบ้านที่มีความรู้รอบด้านเกี่ยวกับวรรณกรรมและดนตรีเมืองเหนือ ทั้งด้านอักษรล้านนา การเทศน์มหาชาติกัณฑ์เอก เช่น กัณฑ์ฉกษัตริย์ กุมาร มัทรี พร้อมใส่กาพย์ได้อย่างไพเราะ และถูกต้องตามทำนองการเทศน์มหาชาติแบบเมืองเหนือ รวมทั้งมีความสามารถด้าน ค่าว ซอ กาพย์ ร่าย กะโลง คำฮ่ำ ดนตรีพื้นเมือง จนได้เป็นประธานชมรมกวีล้านนา (นักค่าวภาคเหนือ) พ.ศ. 2544 – 2548 นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการขับซอประกอบดนตรีปี่จุม สะล้อซอซึงเป็นอย่างดี และเป็นผู้ที่พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้วรรณกรรมด้านภาษาพูดและภาษาเขียนล้านนาอยู่คู่กับล้านนาสืบไป



การศึกษา ชีวิต และการทำงาน

ครูนันท์มีสายเลือดเป็นชาวยอง เกิดที่บ้านสันป่าสัก บิดาของครูนันท์เป็นชาวนา ซึ่งมีความสามารถเป็นผู้อ่านต่อจ๊อยประกอบดนตรีพื้นเมืองในงานต่าง ๆ

เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ครูนันท์ได้บวชเป็นสามเณรที่วัดสันป่าสักฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของพระครูพิศิฎร์ธรรมประสาท (จันทร์สม ธมมสํวโร) ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่เชี่ยวชาญด้านอักษรล้านนา การเทศน์มหาชาติ การแต่งกาพย์และร่าย ได้สอนให้เณรนันท์เทศน์มหาชาติ และการใส่กาพย์ประกอบการเทศน์จนมีชื่อเสียงทั่วจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ ประกอบกับพระครูพิศิฎร์ฯ เป็นผู้ที่ส่งเสริมและอนุรักษ์ดนตรีพื้นเมืองทั้งวงสะล้อ ซอ ซึง และวงปี่พาทย์ ได้นำศรัทธาชาวบ้านตั้งวงดนตรี “ป่าสักสังคีต” เณรนันท์จึงมีโอกาสได้รับความรู้ด้านดนตรีพื้นเมืองติดตัวไปด้วย

ครูนันท์ได้บวชเป็นเณรที่วัดสันป่าสักอยู่ 2 พรรษา จึงย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย และเป็นศิษย์ของพระครูถาวรเจติยานุรักษ์ซึ่งเชี่ยวชาญด้านโบราณคดี ได้เล่าเรื่องเก่า ๆ ให้ครูนันท์เสมอก่อนสวดมนต์เย็น หลังจากนั้น 3 ปี ได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดมหาวัน และได้เป็นลูกศิษย์ของพระมหาอำนาจ สุโรจ และพรญาณมงคล (ชุมพล รุนรักษา) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน รวมทั้งได้ถือโอกาสเรียนกาพย์และร่ายกับพระราชสุตาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงว่า เทศน์มหาชาติ กัณฑ์มหาราช และกัณฑ์นครได้ไพเราะหาคนเทียบได้ยาก และได้ไปศึกษาวรรณกรรมล้านนากับอาจารย์สังฆะวรรณสัย อดีตอาจารย์พิเศษสอนวรรณกรรมท้องถิ่นคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย

ในเวลาต่อมา ครูนันท์เป็นครูพระ สอนวิชาสามัญในตำแหน่งครูศิลปศึกษาและสอนนักธรรมชั้นตรี – โท – เอก และธรรมศึกษา แก่นักเรียนโรงเรียนเมธีวุฒิกร เป็นเวลา 8 ปี จึงได้ลาสิกขารวมเวลาที่บวชเรียนอยู่นานถึง 14 ปี

เมื่อลาสิกขาแล้วได้เข้ารับการอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสามัญ ณ ค่ายลูกเรือหริภุญไชย ได้วุฒิชั้นวูดแบจท์ และได้รับการแต่งตั้งเป็นวิทยากรลูกเสือชาวบ้านจังหวัดลำพูนและเขตการศึกษา 8 (ภาคเหนือ)

ต่อมาครูนันท์ได้ศึกษาดนตรีสากล โดยเฉพาะแอดดอร์เดียนกับอาจารย์พิรุณ การะวรรณ และศึกษาการเล่นเชลโลเบสส์ จากอาจารย์ชาญวุฒิ วงศ์วาร หัวหน้าวงดนตรี จังหวัดลำพูน และได้เป็นทั้งนักร้องที่ถนัดร้องเพลงลูกทุ่ง และนักดนตรีของวง จนวงดนตรีนี้สลายตัว เมื่อมีความรู้ทางด้านดนตรีครูนันท์จึงได้รับแต่งตั้งเป็นครูสอน และผู้ควบคุมวงดุริยางค์ของโรงเรียนเมธีวุฒิกร และเป็นครูหัวหน้าหมวดวิชาศิลปศึกษาการงานและวิชาชีพอีกตำแหน่งด้วย ซึ่งทำให้สนใจเข้ารับการฝึกอบรมงานไม้ไผ่-หวาย งานเคลือบรูปพลาสติก งานผลิตภัณฑ์จากกระดาษสา และงานซิลด์สกรีน นอกจากนี้ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นครู หัวหน้าชุมชนอนุรักษ์ศิลปพื้นบ้านล้านนาของโรงเรียน ครูนันท์ลาออกเมื่อ พ.ศ. 2540 รวมเวลาการเป็นครูที่โรงเรียนเมธีวุฒิกรนานถึง 40 ปี

นอกจากการเป็นครูแล้ว ครูนันท์ยังได้ร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่สังคมทั้งด้านการศึกษา และด้านวัฒนธรมอยู่ตลอดมา อาทิ เช่น การเป็นกรรมการศึกษาโรงเรียนเทศบาลประตูลี้ จังหวัดลำพูน กรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ผู้ทรงคุณวุฒิชุมชนท่าขาม-บ้านฮ่อม และที่ปรึกษางานด้านวัฒนธรรมของนายกเทศมนตรีเมืองลำพูน

เกียรติคุณที่เคยได้รับ

พ.ศ. 2532 โล่รางวัลที่ 2 การประกวดโครงการ กสช. ของสำนักงานประชาสัมพันธ์เขต 3 ลำปาง
พ.ศ. 2535, 2537 ผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น จังหวัดลำพูน
พ.ศ. 2543 ผู้กระทำความดีในการปฏิบัติคุณธรรม 9 ประการตามพระราชดำรัสฯ
พ.ศ. 2541-2542 ชนะเลิศประกวดจ๊อย งานสงกรานต์อำเภอดอยสะเก็ดและสันกำแพง
พ.ศ. 2545 ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ด้านภาษาและวรรณกรรม
จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

(ที่มา: ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๒ ภาคเหนือ. (๒๕๔๕). สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : สกศ.)